โซไนต์นำขยะและของเหลือใช้มาผลิตเป็นวัสดุตกแต่งบ้านและดีไซน์
ความยั่งยืนคือหัวใจของการทำธุรกิจของบริษัทและสังคม
การวิจัยและพัฒนาคือกุญแจสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรม
“โซไนต์” เป็นธุรกิจครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยเริ่มต้นจากผลิตกระดุมและอุปกรณ์ตกแต่งประดับเสื้อผ้า ก่อนจะเปลี่ยนมาผลิตโมเสกสำหรับงานฝีมือ และในเวลาต่อมาได้ปรับมาผลิตโมเสกเพื่องานออกแบบภายในและตกแต่งบ้าน
คุณไพรพรรณ วิเศษจินดา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โซไนต์ อินโนเวทีฟ เซอร์เฟสเซส จำกัด เล่าว่า “ปัจจุบัน โซไนต์มีดีไซน์โมเสกมากกว่า 10,000 แบบ และได้ขยายไลน์สินค้าไปสู่ผลิตภัณฑ์ตกแต่งพื้นผิวและผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทำจากการบดเศษกระดุม ซึ่งเป็นพลาสติกเทอร์โมเซตที่ทนทานต่อความร้อนสูง ไม่สามารถหลอมและรีไซเคิลได้ นำมาผสมกับโพลิเมอร์เกรดสูง กลายเป็นวัสดุ scapa นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีลักษณะคล้ายหินที่ทนทานแต่น้ำหนักเบา
โซไนต์สะท้อนทางเลือกที่ชาญฉลาดและรับผิดชอบต่อสังคมสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะวัสดุก่อสร้างนี้ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยทางบริษัทฯ ได้ปรึกษาการพัฒนาวัสดุกับดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ประเทศไทย
หนึ่งในผลิตภัณฑ์ใส่ใจสิ่งแวดล้อมคือกลุ่มสินค้า Java Core Products ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกับสตาร์บัคส์ ประเทศไทย โดยนำกากกาแฟ 40% มาผลิตเป็นหน้าท็อปโต๊ะใช้ในสาขาสตาร์บัคส์ทั่วประเทศ ช่วยลดการใช้ไม้ และผลิตภัณฑ์นี้ชนะรางวัล Design for Asia Award 2014
ทุกวันนี้ โซไนต์มีผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม เช่น Husk Décor ผลิตภัณฑ์ทำจากแกลบ Coco Décor ผลิตภัณฑ์ทำจากใยมะพร้าว และ E-Mable ผลิตภัณฑ์ทำจากเปลือกไข่
คุณไพรพรรณ เล่าต่อว่า “โซไนต์มีโครงการหนึ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากขยะแกลบข้าวที่ได้จากชาวนาท้องถิ่น ซึ่งช่วยให้พวกเขามีรายได้เสริม เราวางแผนจะซื้อเครื่องสีข้าว เพื่อให้ชุมชนสามารถขายแกลบให้โซไนต์ได้ เรายินดีที่จะทำทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อเข้าถึงชุมชนเกษตรกรรมที่สนใจร่วมโครงการแกลบข้าวของเรา”
ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาคือกุญแจสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรม ซึ่งเป็นคุณค่าหลักของโซไนต์ โดยคุณไพรพรรณ อธิบายว่า “โซไนต์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการวิจัยและพัฒนา เราประเมินความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดผ่านการทำวิจัยการตลาด และหลังจากวางตลาดผลิตภัณฑ์แล้ว เราจะเก็บฟีดแบคจากลูกค้ามาเป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อไป”
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเน้นเรื่องดีไซน์อย่างมาก โดยเชื่อว่า รูปร่างและสีคือหลักของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คนชื่นชอบ และอีกปัจจัยที่สำคัญเช่นกันคือ ความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจโซไนต์ทั้งในแง่เพื่อบริษัทและเพื่อสังคม
“เรามุ่งมั่นที่จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและตั้งเป้าว่าภายใน 2 ปี โรงงานของเราจะลดขยะเหลือศูนย์ (zero waste)” คุณไพรพรรณ กล่าว
ปัจจุบัน ธุรกิจโซไนต์แบ่งเป็นตลาดในประเทศและต่างประเทศในระดับเท่าๆ กัน โดยตลาดต่างประเทศประกอบด้วยเอเชีย ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
คุณไพรพรรณกล่าวถึงแบรนด์ไทยว่า รู้สึกชื่นชมแบรนด์ไทยที่กำลังพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองและสะท้อนความเป็นไทยได้อย่างน่าสนใจ และยังยกย่องกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) อย่างยิ่งที่เปิดโอกาสทางธุรกิจและสนับสนุนการทำธุรกิจของทุกบริษัท โดยเฉพาะ SMEs
“เราขอบคุณกรมฯ ที่มอบโอกาสทางธุรกิจมากมาย โดยเฉพาะการเจรจาธุรกิจแบบออนไลน์ ซึ่งมีประโยชน์มากๆ” คุณไพรพรรณ กล่าว
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://sonitesurfaces.com/
ขอบคุณภาพประกอบจากโซไนต์
บทความโดย ณัฐิณี รัตนประสิทธิ์